กรุงศรี ควักงบ 1.1 หมื่นล้าน ลุยพัฒนาดิจิทัลต่อยอดการเติบโตธุรกิจ

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กางยุทธศาสตร์ปี’66 ลุยกลยุทธ์ 3 ด้าน ลุยธุรกิจอาเซียนต่อเนื่อง เจาะตลาดเวียดนาม-อินโดนีเซีย-ฟิลิปปินส์ คาดดันรายได้ต่างประเทศ 10% พร้อมทุ่มลงทุนไอที-ดิจิทัลกว่า 1-1.1 หมื่นล้านบาท หวังยกระดับดิจิทัลรองรับธุรกิจ-ลูกค้าใหม่ ระบุหนุนสินเชื่อธุรกิจสู่เป้าหมาย ESG พร้อมตั้งเป้าสินเชื่อโต 3-5% คุมหนี้เสียไม่ให้เกิน 2.5-2.6%

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า แผนการดำเนินธุรกิจในปี 2566 ถือเป็นปีสุดท้ายของแผนระยะกลาง 3 ปี (ตั้งแต่ปี 2564-2566) โดยยังคงกลยุทธ์ใน 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.การดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน (ASEAN-Linked Business) ซึ่งธนาคารได้ดำเนินการมาแล้วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อาทิ ลาว เมียนมา และกัมพูชา โดยในส่วนของกัมพูชา ได้มีการยกสถานะของ Hattha Bank สู่การเป็นธนาคารพาณิชย์

และในปี 2566 ธนาคารยังคงเน้นขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศที่มีฐานประชากรจำนวนมาก และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง โดยธนาคารได้เข้าไปร่วมมือทางธุรกิจกับ SB Finance ประเทศฟิลิปปินส์ และ SHB Finance ในประเทศเวียดนาม และการเข้าไปซื้อกิจการธุรกิจรายย่อย Home Credit ในประเทศอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งปัจจุบันรอการอนุมัติจากผู้กำกับดูแล (Regulator) คาดว่าภายในไตรมาสที่ 1 และ 2 ปีนี้จะสามารถดำเนินธุรกิจได้

กรุงศรี ควักงบ

ดังนั้น จากการขยายเครือข่ายสาขาในต่างประเทศของธนาคาร รวมถึงอีก 3 ประเทศที่จะดำเนินการในปีนี้ จะสามารถช่วยขยายฐานลูกค้าและสร้างรายได้จากต่างประเทศเติบโตเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยธนาคารตั้งเป้ามีรายได้สุทธิจากต่างประเทศอยู่ที่ 10% ของรายได้ทั้งหมด จากในปี 2565 รายได้อยู่ที่ 6% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2563 อยู่ที่ 3% ของรายได้ทั้งหมด และปัจจุบันได้ให้บริการลูกค้าในภูมิภาคแล้ว 5 แสนราย

กลยุทธ์ 2.การพัฒนาด้านดิจิทัลและนวัตกรรม (Digital & Innovation) โดยในปี 2566 ธนาคารตั้งเป้าการลงทุนทางด้านไอทีและดิจิทัลสูงถึง 1-1.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ 7,400 ล้านบาท สอดคล้องกับแผนทางด้านการพัฒนาดิจิทัลและนวัตกรรมใหม่ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการเติบโตธุรกิจในอนาคต ซึ่งธนาคารได้มีการลงทุนไปแล้วในหลายด้าน เช่น การลงทุนทางด้าน Core Banking หรือการพัฒนาปรับปรุงระบบ Mobile Banking อย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับปริมาณการทำธุรกรรมทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น โดยสะท้อนจากจำนวนระบบขัดข้องที่ปรับลดลง จากปีก่อนอยู่ที่ 3 ครั้ง ซึ่งลดลงจากปีก่อนหน้าที่อยู่ 6 ครั้ง

และกลยุทธ์ 3.การดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนตามโมเดล ESG (ESG-Linked Business) ภายหลังจากธนาคารได้ประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการดำเนินงานของธนาคารภายในปี 2573 โดยธนาคารจะยังคงเดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อบรรลุเป้าหมายด้าน ESG

โดยในปี 2566 นี้ด้วยการสนับสนุนให้ลูกค้าสามารถเปลี่ยนผ่านและดำเนินงานตามแนวทาง ESG ผ่านหลากหลายโครงการสำหรับลูกค้าธุรกิจและรายย่อย โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อ ESG ที่ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ และการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ให้ลูกค้ารวมอยู่ที่ระดับ 5 หมื่นล้านบาท-1แสนล้านบาท ภายในปี 2573

สำหรับเป้ามายทางการเงินในปี 2566 ธนาคารตั้งเป้าคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไม่ให้เกิน 2.5-2.6% โดยเพิ่มขึ้นหากเทียบกับ 2.3% ปีก่อน แม้จะเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่ายังต่ำกว่าอุตสาหกรรมโดยรวม โดยหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น เชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจาก มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่จะทยอยหมดอายุลง ทำให้แนวโน้มหนี้เสียอาจเพิ่มขึ้นได้ แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อกำไรแบงก์ เนื่องจากสำรองของธนาคารค่อนข้างแข็งแกร่ง และมีการตั้งสำรองส่วนเกินไปค่อนข้างมากแล้วในช่วงที่ผ่านมาถึง 167% โดยปัจจุบันยอดคงค้างช่วยเหลือลูกหนี้อยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท

“จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและถูกปกคลุมความเสี่ยงหลายด้าน ทั้งเงินเฟ้อที่อยู่ระดับสูง และดอกเบี้ยขาขึ้น และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ แต่เรามองเห็นโอกาสในการเติบโตในด้านอาเซียน ที่จะขับเคลื่อนทางด้านการบริโภค และไทยเองก็เติบโต 3.6% และนักท่องเที่ยว 28 ล้านคน ซึ่งเราเองยังคงเดินแผนการเติบโตตามเป้าหมายระยะกลาง และบริหารความเสี่ยงอย่างระมัดระวัง”

นายเซอิกล่าวอีกว่า สำหรับประเด็น ของบริษัทมอร์ รีเทิร์น จำกัด ( MORE) มูลค่าเสียหายอยู่ที่ 898 ล้านบาท ซี่งส่วนนี้ธนาคารได้ตั้งสำรองไปแล้วเต็ม 100% ดังนั้นเชื่อว่าประเด็น MORE จะไม่ย้อนกลับมากระทบธนาคาร และหลังจากนี้ จะเป็นไปตามกระบวนการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และหากสามารถได้เงินชดเชยกลับมา เพื่อว่าส่วนนี้จะเป็นส่วนที่อัพไซต์กลับมาที่ผลประกอบการธนาคารในอนาคต